วิธีปรับหัวสปริงเกอร์แบบตีน้ำ

หัวสปริงเกอร์ชนิดตีน้ำ (Impact Sprinkler / Impulse Sprinkler Head ) เป็นหัวสปริงเกอร์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในงานสวนเกษตร และงานสวนตกแต่ง เนื่องจากราคาที่ไม่แพงมาก แต่สามารถทำหน้าที่การรดน้ำต้นไม้ได้เป็นอย่างดี ส่งน้ำออกไปได้เป็นระยะทางไกล หัวสปริงเกอร์ เกลียว 1/2" โดยทั่วไปสามารถส่งน้ำได้ถึง 13 ม. 
วิธีการปรับนี้ยังสามารถใช้ได้กับหัว pop-up สปริงเกอร์ชนิดตีน้ำได้อีกด้วย เช่นรุ่น Naan 805 , Rain Bird Maxi Paw 2045A เป็นต้น แต่แตกต่างคือเมื่อต้องการปรับหัวสปริงเกอร์แบบฝังดินนั้นจะต้องทำการปรับโดยการยกภายในมันขึ้นมาด้วยการดึงฝาปิดขึ้น หรือปรับหัวขณะที่หัวสปริงเกอร์กำลังทำงานอยู่ ซึ่งเราสามารถเห็นผลที่ปรับแล้วได้เลย
หากเราต้องการปรับระยะการส่งน้ำ หรือมุมองศาการฉีด สามารถทำได้ไม่ยาก ตามรายละเอียดการปรับตั้งหัวสปริงเกอร์ชนิดตีน้ำดังนี้

1. การปรับแรงดันของน้ำ

เป็นวิธีการปรับการไหลของน้ำที่ต้นทางเพื่อควบคุมแรงดันและปริมาณการไหลของน้ำที่จะมาหัวสปริงเกอร์ การหรี่น้ำจะทำให้หัวสปริงเกอร์ส่งน้ำได้ระยะใกล้ลงมา

ควระวังไม่ทำการลดแรงดันของน้ำลงมามากเกินไป เนื่องจากอาจจะทำให้หัวสปริงเกอร์มีแรงไม่พอในการหมุนตัวมันเอง

การปรับหัวสปริงเกอร์

 

2. การปรับตำแหน่งสกรูขวางลำน้ำ

ตัวสกรูขวางลำน้ำจะอยู่ที่ด้านปลายแขนสปริงเกอร์ เราสามารถปรับระยะส่งน้ำให้มีระยะใกล้ลงมาได้โดยการปรับตำแหน่งสกรู หมุนตามเข็มนาฬิกา ให้ปลายสกรูจมเข้าไปจนไปขวางแนวลำน้ำ การทำเช่นนี้จะทำให้ลำน้ำที่ถูกฉีดออกมาแตกตัวมาเป็นละอองมากขึ้น ระยะส่งน้ำน้อยลง ความกว้างของลำน้ำมากขึ้น
หากต้องการให้มีระยะไกลออกไป เพื่อให้ระยะการส่งน้ำไกลขึ้น ให้ปรับตำแหน่งสกรูทวนเข็มนาฬิกาให้ปลายสกรูถอยออกมา

การปรับระยะมุมหัวสปริงเกอร์

 

3. การปรับตัวเบี่ยงลำน้ำ

ตัวเบี่ยงลำน้ำ เป็นแผ่นสแตนเลสสามารถปรับยกขึ้นลงได้ จะอยู่ที่ปลายแขนสปริงเกอร์ จุดหมุนของมันอยู่ใกล้กับสกรูขวางลำน้ำ
เราสามารถปรับตำแหน่งขึ้นลงมาที่แนวของลำน้ำที่ฉีดออกไปให้น้ำเบี่ยงมุมลงมาเพื่อให้พื้นที่ที่ใกล้กับหังสปริงเกอร์ได้น้ำมากขึ้น หรือให้ลำน้ำเบี่ยงมุมขึ้นไปเพื่อให้พืื้นที่ที่ห่างจากหัวสปริงเกอร์ได้รับน้ำมากขึ้น

ตัวเบี่ยงลำน้ำอาจจะไม่มีในหัวสปริงเกอร์ชนิดฝังดิน (pop-up sprinkler) และสปริงเกอร์บางรุ่น

การปรับหัวสปริงเกอร์

 

4. การปรับก้ามปูเพื่อควบคุมรัศมีการหมุนซ้ายขวา

ก้ามปูจะเป็นลักษรณะคล้ายก้ามปู อยู่บริเวณแกนสปริงเกอร์ด้านล่าง มีอยู่ 2 ชุด เราสามารถปรับมุมองศาการหมุนของหัวสปริงเกอร์ได้ โดยการปรับตำแหน่งของก้ามปูทั้ง 2 ชุดนี้ให้อยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ โดยหัวสปริงเกอร์จะมีตัวเตะ (จะกล่าวถึงในข้อถัดไป) เมื่อตัวเตะหมุนตัวมาพร้อมกับการหมุนของสปริงเกอร์ชนเข้ากับก้ามปูด้านหนึ่ง ตัวเตะจะเปลี่ยนตำแหน่งทำให้หัวสปริงเกอร์หมุนไปด้านตรงข้ามทันที และเมื่อหมุนมาชนกับก้ามปูอีกชุดหนึ่งตัวเตะก็จะเปลี่ยนตำแหน่งทำให้หัวสปริงเกอร์หมุนไปด้านตรงข้ามอีกครั้ง การทำงานของหัวสปริงเกอร์ก็จะส่ายไปมาทางซ้ายขวาตามมุมองศาที่ต้องการได้

การปรับมุมรัศมีซ้ายขวาเหมาะกับการติดตั้งหับสปริงเกอร์ที่ด้านข้างของพื้นที่รดน้ำต้นไม้ เพื่อไม่ให้พื้นที่ด้านหลังหัวสปริงเกอร์ไม่เปียกน้ำ เช่นติดตั้งชิดรั้ว ชิดตัวบ้าน หรือที่มุมสนามหญ้าเป็นต้น 

 การปรับหัวสปริงเกอร์ มุม

 

5. การปรับหัวสปริงเกอร์ให้หมุนรอบตัวหรือหมุนเป็นมุมซ้ายขวา

การปรับนี้ทำโดยการปรับที่ตัวเตะ ตัวเตะมีลักษณะคล้ายคลิปหนีบกระดาษ ซึ่งถ้ายกตัวเตะขึ้นจะทำให้หัวสปริงเกอร์หัวรอบตัวตลอดเวลา ถ้ายกตัวเตะลงจะทำให้หัวสปริงเกอร์หัวส่ายซ้ายขวาตามต้องการได้ (รายละเอียดตามข้อก่อนหน้านี้)

การปรับหัวสปริงเกอร์ให้หมุนรอบตัว เหมาะกับหัวสปริงเกอร์ที่ติดตั้งอยู่กลางพื้นที่การรดน้ำต้นไม้

หัวสปริงเกอร์ชนิดหมุนรอบตัวปรับมุมองศาซ้ายขวาไม่ได้ จะไม่มีตัวเตะ

การปรับหัวสปริงเกอร์ หมุนรอบตัว

 

 

 

Credit : ภาพจาก wikihow.com

Visitors: 328,577